เด็กๆ ที่มีอาการ ปวดตา มองเห็นภาพซ้อน คลื่นไส้ หรือปวดหัว และถูกเข้าใจผิดว่าเป็นเด็กซุ่มซ่าม ขี้เกียจ เป็นโรคการเรียนรู้บกพร่อง หรือโรคสมาธิสั้น แท้ที่จริงแล้วอาจเป็นโรค Binocular Dysfunction หรือโรคที่กระทบต่อการเรียนรู้ของเด็กๆ ก็ได้ วันนี้ศรไทยขอพามาทำความรู้จักกับโรคนี้ และรับมือกับปัญหานี้ไปพร้อมๆ กันค่ะ

Binocular dysfunction ปัญหาการรวมภาพ หรือปัญหาการทำงานร่วมกันของตาสองข้าง คืออะไร?

Binocular dysfunction เกิดขึ้นได้ใน 25% ของเด็กทุกคน อาจทำให้มีอาการปวดตา คลื่นไส้ ปวดหัว เห็นตัวอักษรลอยไปลอยมาขณะอ่านหนังสือ อ่านหนังสือข้ามคำ ข้ามบรรทัด จับใจความสิ่งที่อ่านไม่ได้ เขียนเลข หรือตัวอักษรกลับด้าน อาการเหล่านี้มักทำให้เด็กถูกเข้าใจว่าเป็นโรคการเรียนรู้บกพร่อง หรือสมาธิสั้น จึงได้รับการแก้ไขปัญหาที่ไม่ตรงจุด และส่งผลกับชีวิตเด็กทั้งด้านจิตใจ และอารมณ์

โดยธรรมชาติ เราสามารถมองภาพผ่าน 2 ตา แล้วนำภาพจากตาทั้ง 2 ข้าง ไปประมวลผลในสมองให้กลายเป็นภาพเดียว ซึ่งก็คือภาพที่เรามองเห็น และนำไปใช้ได้จริง ดังนั้นเมื่อตาใดตาหนึ่งอยู่ในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสม จะทำให้ภาพที่สมองได้รับจากตาแต่ละข้าง มีความแตกต่างกันมากจนสมองไม่สามารถประมวลผลได้อย่างรวดเร็ว ประมวลผลผิดพลาด หรือถึงขั้นไม่สามารถประมวลผลให้เป็นภาพเดียวได้ (เกิดการเห็นภาพซ้อน) 

การตรวจสุขภาพตาทั่วไปสามารถบ่งบอกโรค Binocular dysfunction ได้หรือไม่?

ในการตรวจตาประจำปี หรือการตรวจวัดสายตาทั่วไป มักตรวจไม่พบปัญหาเหล่านี้ แม้ว่า Binocular dysfunction จะไม่ได้ทำให้เรามองเห็นภาพซ้อน แต่ก็ทำให้สมองต้องใช้พลังงานมากกว่าปกติ เพื่อที่จะทำให้เห็นเป็นภาพเดียว จึงทำให้ตาต้องออกแรงมากกว่าปกติ เพื่อที่จะพยายามให้ตาทั้งสองอยู่ในตำแหน่งที่ตรงกันมากที่สุด ความพยายามจะชดเชยตำแหน่งตาที่ไม่ถูกต้องนี้ สามารถทำให้เกิดอาการ ปวดหัว ปวดตา ปวดท้อง คลื่นไส้ได้

Binocular dysfunction ส่งผลอย่างไรต่อการเรียนรู้

Binocular dysfunction มีความสัมพันธ์กับการอ่านเป็นอย่างมาก เพราะการอ่านหนังสือเป็นกิจกรรมที่ต้องอาศัยความสามารถในการควบคุมตาสูง และในเมื่อการอ่านยังคงเป็นวิธีการเรียนการสอนที่สำคัญในยุคสมัยนี้ เมื่อเด็กมีอาการ Binocular dysfunction ก็อาจทำให้มีปัญหาด้านการพัฒนาการเรียนรู้ เด็กที่มีปัญหาการรวมภาพ จะต้องใช้พลังงาน และศักยภาพของสมองส่วนใหญ่มาควบคุมตา เพื่อรวมภาพให้เป็นภาพเดียวกัน ทำให้ไม่สามารถใช้สมองเพื่อทำความเข้าใจเนื้อหาที่อ่านได้ และเมื่ออ่านไปได้สักระยะอาจหมดแรง และไม่สามารถควบคุมตาได้ในบางขณะ ผลลัพธ์คือตาหลุดจากคำที่กำลังอ่านอยู่ หาไม่เจอว่าตัวเองอ่านไปถึงไหนแล้ว ต้องกลับมาเริ่มอ่านใหม่ หรือ แค่เริ่มตรงที่ ๆ คาดเดาว่าอ่านไปล่าสุด ทำให้ดูเหมือนอ่านข้ามบางคำ หรืออ่านข้ามบรรทัดได้  

แนวทางการรักษา Binocular dysfunction 

แนวทางการแก้ไขขึ้นอยู่กับผลการตรวจ ว่ามีปัญหาการรวมภาพในลักษณะไหน เช่น ตาเข้าหากันได้ไม่ดี ตาเข้าหากันมากเกินไป ความยืดหยุ่นในการนำตาเข้าออกน้อย ซึ่งการแก้ไขจะมีตั้งแต่การใช้แว่นตาที่มีตัวช่วยเรื่องการรวมภาพ หรือมีประสิทธิภาพในการลดเพ่งที่อาจเพียงพอในหลายๆ คน แต่ในกรณีที่แว่นตาไม่สามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ ก็จำเป็นต้องใช้แบบฝึกหัดหรือการบำบัดตาร่วมด้วย การแก้ไขปัญหาเหล่านี้ควรปรึกษานักทัศนมาตรพฤติกรรมศาสตร์ ถึงแนวทางการแก้ไขที่เหมาะสมในแต่ละบุคคล และจำเป็นที่จะต้องวัดผลการแก้ไขอย่างสม่ำเสมอ ทุกๆ 3 – 6 เดือน เพื่อติดตามอาการ และแก้ไขปัญหาต่อไปค่ะ