หลายคนยังสับสนว่าต้อหินเป็นเรื่องของโรคบริเวณลูกตาส่วนหน้า ที่มีการรักษาโดยการลอกต้อแล้วจึงหาย แต่แท้จริงแล้ว คำนิยามของต้อหิน (glaucoma) คือ กลุ่มอาการของโรคของเส้นประสาทตา (Optic neuropathy) ที่ขั้วประสาทตาโดนทำลาย และสูญเสียลานสายตาที่มีลักษณะเฉพาะตัว การมีความดันตาที่สูงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุด ต้อหินจึงเป็นสาเหตุอันดับต้น ๆ ของการสูญเสียสายตาอย่างถาวรทั่วโลก

ต้อหินแบ่งออกได้ 2 ชนิด

1. ต้อหินมุมเปิด (Primary open angle glaucoma) เป็นต้อหินที่มีลักษณะ ของมุมตาเหมือนคนปกติ แต่ไม่สามารถกระจายความดันลูกตาออกจากลูกตาได้อย่างเหมาะสม ทำให้เกิดความดันตาสูงและทำลายประสาทตา ผู้ป่วยมักไม่ทราบว่าเป็นต้อหิน แต่สายตาจะค่อย ๆ มัวลง อาจสังเกตการเห็นการเปลี่ยนแปลงในระยะเวลานานเป็นเดือนหรือปี 

2. ต้อหินมุมปิด (Primary angle closure glaucoma) เป็นต้อหินที่พบในคนมีลักษณะมุมตาแคบ ทำให้ความดันตาไม่สามารถระบายออกไปได้ เกิดความดันตาสูงและไปทำลายประสาทตา แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ 

    ต้อหินชนิดเฉียบพลัน เกิดจากมุมตาที่แคบนำไปสู่ภาวะมุมตาปิดเฉียบพลัน ความดันลูกตาขึ้นสูงโดยทันทีทำให้ตามัวลงอย่างรวดเร็ว อาจเห็นแสงรุ้งรอบดวงไฟ มีอาการปวดตาอย่างรุนแรง ตาแดง ปวดศีรษะ มักไม่หายด้วยการรับประทานยาแก้ปวด ถ้าไม่รีบรักษาอาจทำใหสูญเสียการมองเห็นได้อย่างรวดเร็ว

    ต้อหินชนิดเรื้อรัง ความดันตาอาจขึ้นไม่สูงมาก มีลักษณะค่อยเป็นค่อยไปจนมีมุมตาปิดเรื้อรัง ตาจะค่อย ๆ เห็นแคบหรือมัวลงทีละน้อย จนแทบไม่สังเกตเห็นความผิดปกติ จึงมักถูกปล่อยทิ้งไว้ จนประสาทตาเสียไปมาก ทำให้สูญเสียการมองเห็นในที่สุด

    จะเห็นได้ว่าความดันตาที่สูงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญในการเกิดต้อหิน อย่างไรก็ตามยังมีต้อหินที่มีความดันตาไม่สูง (Normo-tension glaucoma) เป็นต้อหินที่คล้ายชนิดแรก แต่มีความดันตาปกติ เชื่อว่าเกิดจากปัจจัยอื่นที่ทำให้ขั้วประสาทตาหรือเส้นใยประสาทตาถูกทำลาย 

    นอกจากนี้ยังมีต้อหินที่เป็นผลมาจากโรคอื่น ๆ เช่น ต้อกระจก ม่านตาอักเสบ การทานยาบางกลุ่ม อุบัติเหตุ ต้อหินโดยกำเนิด หรือ ต้อหินในเด็ก ซึ่งเกิดจากการพัฒนาการที่ผิดปกติตั้งแต่กำเนิด โดยการดำเนินโรค วิธีการดูแล หรือการพยากรณ์โรคก็อาจจะแตกต่างออกไป

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดต้อหิน

  1. ความดันตาที่สูงผิดปกติ
  2. ผู้ที่อายุ 40 ปีขึ้นไปมีความเสี่ยงมากกว่าคนอายุน้อย
  3. มีประวัติคนในครอบครัวที่เป็นต้อหิน
  4. สายตาสั้นมากผิดปกติ พบว่าคนที่มีสายตาสั้นจะมีจอประสาทตาบาง เนื่องจากลูกตามีการขยายขนาดใหญ่ มีโอกาสที่ความดันตาจะไปกดขั้วประสาทตา ทำให้มีความเสี่ยงเส้นประสาทตาโดนทำลายได้มากกว่าคนสายตาปกติ
  5. สายตายาวมาก พบว่าคนที่มีสายตายาวจะมีช่องหน้าลูกตาแคบมุมตาแคบ เนื่องจากขนาดลูกตาที่เล็ก ทำให้เสี่ยงเกิดต้อหินได้ง่ายกว่าคนสายตาปกติ
  6. เกิดอุบัติเหตุที่รุนแรงต่อดวงตา 
  7. มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไมเกรน เส้นเลือดตีบ 
  8. การใช้ยาบางชนิดเป็นเวลานาน เช่น การใช้ยาหยอดตากลุ่มเสตียรอยด์เป็นเวลานาน
  9. เชื้อชาติ เช่นคนเอเชียและอินเดียมีโอกาสเป็นต้อหินมุมปิดมากกว่าคนผิวขาว

การเกิดต้อหิน

ความผิดปกติของความดันภายในลูกตา เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของภาวะต้อหิน ซึ่งมักต้องตรวจเสมอร่วมกับการตรวจดูขั้วประสาทตา ความดันตาที่สูงเกิดจากการคั่งของของเหลวภายในลูกตาที่ทำหน้าที่นำออกซิเจนและอาหารไปเลี้ยงเนื้อเยื่อบริเวณใกล้เคียง เมื่อของเหลวนี้ขาดสมดุลของอัตราการสร้างและอัตราไหลออกจากลูกตา ทำให้ความดันตาสูงขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อความดันตาสูงเป็นระยะเวลานาน จะไปกดประสาทตา ทำให้เลือดมาเลี้ยงที่ขั้วประสาทตาน้อยลง เป็นผลให้ประสาทตาประสาทตาเสื่อม  ฝ่อตัวลง และขั้วประสาทตาโดนทำลาย ทำให้สูญเสียการมองเห็นได้ในที่สุด

อาการของต้อหิน

    อาจไม่มีอาการเลยในระยะแรก จนกระทั่งตามัวลงมาก เมื่อมาพบจักษุแพทย์ก็พบว่าโรคเป็นไปมากแล้ว โดยจะเริ่มสูญเสียลานสายตาบริเวณรอบนอกก่อนโดยการมองเห็นที่ตรงกลางยังดีอยู่ เช่น เห็นแสงแคบลง ถ้าปิดตาดูทีละข้างอาจเห็นจุดบอดบางส่วน ในที่แสงสลัวจะมองเห็นวัตถุไม่ชัดเหมือนเดิม เห็นแสงรุ้งรอบ ๆ ดวงไฟ และถ้าเป็นอยู่นานไม่ได้รับการรักษาลานสายตาแคบลงมากจนเห็นเหมือนมองผ่านอุโมงค์ (Tunnel vision)

    กรณีต้อหินเฉียบพลัน มีอาการปวดตารุนแรง ตามัวลง มองเห็นดวงไฟเป็นสีรุ้ง ตาแดงก่ำสู้แสงไม่ได้ อาจจะมีน้ำตาไหลร่วมด้วย มีอาการปวดศีรษะข้างเดียวกัน และอาจเป็นมากถึงคลื่นไส้อาจเจียน

การตรวจคัดกรองและวินิจฉัยโรคต้อหิน

      ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่เป็นต้อหินมีอายุมากกว่า 40 เเละพบมากในคนที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคต้อหิน  โดยปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ได้เเก่ ประวัติการเจ็บป่วยของครอบครัว อายุ เชื้อชาติ ความดันตาที่สูง และคนที่มีขนาดขั้วประสาท(cupping) ตาโตจะมีความเสี่ยงมากกว่า

       เมื่อไหร่จึงควรตรวจต้อหิน

– คนที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไปแนะนำควรตรวจสุขภาพดวงตาเพื่อคัดกรองต้อหินอย่างน้อยปีละครั้ง
– คนที่มีประวัติเสี่ยงเป็นต้อหิน หรือ มีคนในครอบครัวเป็นต้อหิน ควรตรวจตาอย่างละเอียดเป็นประจำทุกปี
– คนที่เป็นต้อหิน ควรมาติดตามอาการตามที่จักษุเเพทย์ที่ดูแลนัดตรวจอย่างสม่ำเสมอ

ขั้นตอนการตรวจภาวะต้อหินมีอะไรบ้าง  

  1. ตรวจวัดความดันลูกตา ความดันปกติอยู่ระหว่าง 10 ถึง 22 mmHg ในขณะที่ผู้ป่วยโรคต้อหินสามารถวัดได้มากกว่า 22 mmHg อย่างไรก็ตามค่าความดันตาไม่คงที่ตลอดทั้งวัน (โดยทั่วไปจะสูงสุดในตอนเช้า) จึงต้องบันทึกเวลาที่วัดความดันไว้ทุกครั้งที่มีการตรวจค่าความดันตา โดยผู้ป่วยโรคต้อหินแบบมุมปิดเฉียบพลัน มักพบว่า ผู้ป่วยมีความดันสูงมาก อาจมากกว่า 60 mmHg มี จึงต้องรีบรักษาโดยการลดความดันตาให้เร็วที่สุด เพื่อป้องกันการสูญเสียการมองเห็น
  2. ภาพถ่ายจอประสาทตา (Fundus exam) พบว่าขนาดหลุมตรงกลางจอตา จะมีขนาดใหญ่ขึ้นมากกว่า 50% ของพื้นที่ขั้วประสาทตาทั้งหมด หรือ มีขนาดไม่เท่ากันในตาเเต่ละข้าง
  3. การตรวจขั้วประสาทตาเพื่อดูความหนาเส้นประสาทตาด้วยเครื่อง OCT ผู้ป่วยต้อหินเส้นประสาทตาที่ขั้วประสาทตาโดนทำลาย จะมีปริมาณเส้นประสาทค่อย ๆ หายไป ทำให้เมื่อมีประมาณเส้นประสาทที่ขั้วประสาทตาลดลง 
  4. การตรวจลานสายตา สามารถตรวจได้จากเครื่อง automated perimetry ผู้ป่วยจะสูญเสียการมองเห็นบริเวณรอบ ๆ ในขณะตรงกลางยังเห็นชัด เรียกว่า Tunnel vision
  5. ตรวจดูลักษณะกายวิภาคของตาทั่วไป  การตรวจความกว้างของมุมตา (Anterior chamber angle) โดยใช้ Slit lamp 

 

การตรวจที่ศูนย์ตาศรไทย 

ผู้มารับบริการจะได้รับการตรวจประเมินความเสี่ยงภาวะต้อหิน ด้วยการตรวจที่มีมาตรฐาน ดังนี้ 

1) การวัดความสามารถในการมองเห็นที่ดีที่สุด (Best VA) 

2) การตรวจสุขภาพดวงตาส่วนหน้าโดยใช้ Slit-lamp เพื่อตรวจสุขภาพดวงตาตั้งแต่เปลือกตา ชั้นน้ำตา กระจกตา ความกว้างมุมตา ไปจนถึงเลนส์แก้วตา 

3) การตรวจสุขภาพตาส่วนหลังโดยใช้กล้องถ่ายภาพจอประสาทตา (Digital fundus camera) เพื่อตรวจดูความผิดปกติของจอประสาทตา ประเมินขนาดของขั้วประสาทตา 

4) การตรวจวัดความดันตา โดยใช้เครื่อง Tonometry เพื่อประเมินค่าความดันตา

วิธีการดูแลรักษา

ภาวะต้อหินเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เพราะเมื่อประสาทตาโดนทำลายไปแล้วจะสูญเสียถาวรไม่สามารถรักษาให้กลับมากปกติ แต่การรักษาที่ถูกต้องจะช่วยป้องกันไม่ให้ประสาทตาโดนทำลายมากขึ้นไปอีก ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาเพื่อควบคุมความดันตาให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัย สามารถทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับชนิด ความรุนแรงและอาการของโรค
1. การใช้ยา มีทั้งยาหยอด ยารับประทาน และยาฉีดเข้าเส้นเลือด เพื่อลดการผลิตของของเหลวภายในลูกตา หรือไปเพิ่มอัตราการไหลออกของของเหลวภายในลูกตา
2. เลเซอร์โดยเฉพาะในต้อหินมุมปิดหรือมุมเปิดบางชนิด วิธีการรักษาแตกต่างกันไปตามข้อบ่งชี้
3. การผ่าตัด มักใช้กรณีที่รักษาด้วย 2 วิธีแรกไม่ได้ผล สามารถทำได้หลายวิธี เพื่อควบคุมความดันตา

นอกจากนี้ผู้ป่วยต้องไปพบจักษุแพทย์เป็นระยะ ๆ เพื่อดูความดันตา และลานสายตารวมทั้งการตรวจอื่น ๆ เพื่อปรับการรักษาให้เหมาะสม

 

วิธีดูเเลคนที่มีสายตาเลือนรางเนื่องจากภาวะต้อหิน

เมื่อมีภาวะต้อหินเเล้ว สิ่งสำคัญคือ ความเข้าใจภาวะของโรค ซึ่งศูนย์ตาศรไทยจะคอยดูเเล ตรวจติดตามอาการของภาวะต้อหิน สอนการปฏิบัติตัว การดูเเลตัวเองอย่างถูกต้อง พูดคุยให้ผู้ป่วยเข้าใจและคอยให้คำเเนะนำวิธีการต่าง ๆ ในการเลือกใช้อุปกรณ์เพื่ออำนวยความสะดวกในการมองเห็น เช่น ช่วยเเก้ไขการมองเห็นให้ชัดขึ้นด้วยแว่นสายตา การใส่แว่นกันเเดดเพื่อลดผลกระทบจากแสงสะท้อนและช่วยเพิ่มคอนทราสท์ การแนะนำการปรับตัวในชีวิตประจำวัน เช่น เมื่อมีการสูญเสียลานสายตารอบนอกจะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย การแนะนำให้เลือกใช้อุปกรณ์ที่มีสีที่ดูเด่นชัดขึ้นมา ช่วยเพิ่มความสามารถในการสังเกตเห็นสิ่งของด้านข้างได้ง่ายขึ้น ทำให้ลดการเกิดอุบัติเหตุและช่วยให้ใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างราบรื่น ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตน้อยที่สุด 

     เมื่อพบว่าเรามีความเสี่ยงเป็นต้อหินต้องทำอย่างไร

เมื่อพบว่าตัวเองมีความเสี่ยงที่จะมีภาวะต้อหิน อย่าเพิ่งตระหนก แต่แนะนำให้รับการตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติม เพื่อให้จักษุเเพทย์นำข้อมูลต่าง ๆ มาประกอบการวินิจฉัยได้อย่างเเม่นยำ ดังนั้น หากได้รับการตรวจโดยละเอียดแล้ว ในขณะนั้นยังไม่เป็นโรคต้อหิน แต่อาจมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคต้อหินได้ จึงควรได้รับการตรวจสุขภาพตาและตรวจคัดกรองต้อหินเป็นประจำทุกปี

การตรวจคัดกรองและวินิจฉัยโรคต้อหิน หากได้รับการวินิจฉัยตั้งแต่เนิ่น ๆ การรักษาอาจช่วยชะลอหรือป้องกันการสูญเสียการมองเห็นได้