สายตายาวแต่กำเนิด (Hyperopia)

ในวัยเด็ก คนส่วนใหญ่จะมีสายตายาวตั้งแต่กำเนิด และค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงความยาวของลูกตา (Axial Length) ที่ยาวมากขึ้นตามอายุ และจะเริ่มคงที่เมื่ออายุประมาณ 20 ปี โดยคนที่มีความยาวของลูกตาที่สั้นกว่าปกติจะมีค่าสายตายาว และคนที่มีความยาวของลูกตาที่ยาวกว่าปกติก็จะมีค่าสายตาสั้น กล่าวคือสำหรับคนส่วนมาก การที่ลูกตามีขนาดสั้นในวัยเด็กและมีค่าสายตายาวถือเป็นธรรมชาติของการเจริญเติบโตและสายตามักกลับสู่สภาวะปกติเมื่อมีอายุประมาณ 20 ปีนั่นเอง

แต่ในคนที่เป็นภาวะสายตายาวแต่กำเนิด (Hyperopia) หรือกระบอกตามีขนาดสั้น และกระจกตามีความโค้งน้อยกว่าปกติ ทำให้เมื่อแสงเข้าสู่ดวงตา มีการหักเหของแสงน้อยลง ส่งผลให้แสงไปตกที่ด้านหลังของจอประสาทตา ระบบการมองเห็นของคนสายตายาวแต่กำเนิด จึงมีการเพ่งอยู่ตลอดเวลาทั้งในระยะใกล้และระยะไกล เพื่อดึงภาพของวัตถุที่ตกอยู่หลังจอประสาทตาให้กลับมาตกลงบนจอประสาทตาอย่างพอดี การเพ่งที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติในวัยเด็กทำให้มักไม่รู้ตัวว่ามีภาวะสายตายาว เนื่องจากกล้ามเนื้อตาของเด็กยังมีความยืดหยุ่นสูง ทำให้สามารถเพ่งได้มากกว่าปกติ และยังสามารถมองระยะไกลได้ดีกว่าผู้ใหญ่ ภาวะสายตายาวจึงไม่ส่งผลกระทบต่อการมองเห็นของเด็ก แต่เมื่ออายุเพิ่มขึ้น กล้ามเนื้อตาเสื่อมลง ภาวะสายตายาวเริ่มแสดงอาการออกมาชัดเจนยิ่งขึ้น ทำให้การมองเห็นไม่ดีเหมือนเดิม โดยอาการสายตายาวที่พบจะขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล

อาการของสายตายาวแต่กำเนิด ในแต่ละช่วงอายุ

– ก่อนวัยเรียน มีการใช้กล้ามเนื้อตาในการเพ่งมากกว่าปกติ ซึ่งอาจส่งผลให้มีความผิดปกติอื่นร่วมด้วย เช่น ตาเหล่ ตาเขเมื่อมองใกล้ หรือเวลาอ่านหนังสือ 

– วัยเรียน เริ่มมีอาการมองเห็นไม่ชัดในระยะใกล้ แต่ที่ระยะไกลยังชัดดีอยู่ สังเกตได้โดยเด็กที่มีสายตายาวจะไม่สามารถอ่านหนังสือเป็นเวลานานๆ ได้

– วัยทำงาน เมื่อทำงานระยะใกล้เป็นเวลานาน มักเกิดอาการตาล้าเร็วกว่าคนทั่วไป 

– วัย 40 ปี ขึ้นไป มองเห็นไม่ชัดทั้งระยะไกลและระยะใกล้ คนกลุ่มนี้มักจะต้องใช้แว่นมองใกล้ในการอ่านหนังสือก่อนคนอื่นในวัยเดียวกัน การจ่ายค่าสายตายาวในคนกลุ่มนี้ควรคำนึงถึงความต้องการในการใช้งานทั้งระยะไกลและใกล้ โดยสามารถแก้ไขได้ด้วยเลนส์นูน(+) เพื่อให้แสงหักเหตกลงบนจอ ประสาทตาพอดี

สายตายาวตามอายุ (Presbyopia)

คนเราเมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไปจะเริ่มมีปัญหาการมองเห็นในระยะใกล้ที่ไม่ชัดเจนเหมือนเมื่อก่อน เช่น การอ่านหนังสือ หรือการอ่านข้อความในโทรศัพท์มือถือ ต้องยืดแขนออกไปจึงจะมองเห็นชัดขึ้น ซึ่งอาการเหล่านี้ เรียกว่า สายตายาวตามอายุ (Presbyopia) เป็นความผิดปกติของการมองเห็นที่เกิดขึ้นกับทุกคน ซึ่งเกิดจากเลนส์ตาของเรายืดหยุ่นได้น้อยลง และกล้ามเนื้อตาที่เสื่อมลงตามอายุ เป็นปัจจัยที่มีผลต่อการมองเห็นในระยะใกล้ โดยสายตายาวตามอายุจะสามารถเกิดร่วมกับผู้ที่มีภาวะสายตาสั้น สายตายาวโดยกำเนิด และสายตาเอียงได้

การแก้ไขสายตายาวตามอายุด้วยคอนแทคเลนส์

คอนแทคเลนส์ติดอยู่กับดวงตาโดยตรงทำให้มีมุมมองกว้าง ไม่มีสิ่งกีดขวางเวลามอง และให้ความสะดวกสบายคล่องตัวสำหรับการใช้งาน แถมยังปรับตัวง่าย เหมาะกับคนที่ชอบทำกิจกรรม active เพราะสามารถใส่เล่นกีฬาได้โดยไม่ต้องกลัวว่าแว่นตาจะหลุดหรือพัง 

ถ้าเดิมใส่คอนแทคเลนส์สายตาสั้น ยาว หรือเอียงเพื่อให้มองไกลชัดอยู่แล้ว สามารถ

ใช้แว่นสายตายาวแบบที่มีเลนส์ชั้นเดียว (Single Lenses) เพื่อช่วยในการมองเห็นในระยะใกล้

– สำหรับผู้ที่มีสายตายาวตามอายุในระยะเริ่มต้น สามารถแก้ไขได้ด้วย Monovision Contact Lenses หรือ การใส่คอนแทคเลนส์แก้ไขสายตายาวในตาข้างที่ไม่ถนัด (Non Dominant Eye) ให้สามารถมองใกล้ชัด ส่วนในตาข้างที่ถนัด (Dominant Eye) ใช้คอนแทคเลนส์อันเดิมที่ใช้ในการมองไกล วิธีนี้ต้องอาศัยการปรับตัวในการใช้ตา 2 ข้างพร้อมกันในการมองเห็นชัดเจนทั้งระยะใกล้และระยะไกล

– ใช้คอนแทคเลนส์แบบโปรเกรสซีฟ (Multifocal Contact Lenses) หรือคอนแทคเลนส์มัลติโฟคอลที่มองได้ทั้งระยะไกล กลาง และใกล้ ในตัวเดียว โดยจะใส่คอนแทคเลนส์ประเภทนี้ในตาข้างที่ ไม่ถนัด (Non Dominant Eye) ให้สามารถมองใกล้ชัด ส่วนตาข้างที่ถนัด (Dominant Eye) จะใช้แบบที่มองระยะไกลชัด ซึ่งคอนแทคเลนส์แบบมัลติโฟคอลจะแตกต่างกับ Monovision Contact Lenses หรือคอนแทคเลนส์ทั่วไปที่รู้จักกันดี ตรงที่แบบมัลติโฟคอลจะสามารถช่วยให้มองภาพเป็น 3 มิติได้มากกว่า

 

ปัญหาสายตายาวตามอายุมีหลายวิธีในการแก้ไข เช่น แว่นตา คอนแทคเลนส์ แต่วิธีที่ง่ายและปลอดภัยที่สุดคือ แว่นตา เพราะการสวมใส่แว่นตาไม่มีการสัมผัสกับดวงตาโดยตรง

การแก้ไขสายตายาวตามอายุ 

การแก้ไขสายตายาวตามอายุด้วยแว่นตา

การเลือกแว่นตา จะขึ้นอยู่กับค่าสายตาและความชอบของแต่ละบุคคล โดยตัวเลนส์ที่สามารถแก้ไขปัญหาสายตายาวตามอายุได้มีดังนี้

– เลนส์ชั้นเดียว (Single Lenses) คือเลนส์ที่สามารถมองได้ระยะเดียว ใช้เฉพาะสำหรับการมองในระยะใดระยะหนึ่งเท่านั้น ข้อดีคือใช้งานง่าย ปรับตัวง่าย แต่ก็มีข้อเสียเหมือนกันคือ ต้องใส่ๆ ถอดๆ สลับแว่นเวลาต้องการเปลี่ยนระยะการมองจากระยะใกล้ไประยะไกล เช่น การทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ และการเดินจากโต๊ะทำงานไปยังห้องประชุม ใช้สายตาในการมองคนละระยะ ถ้าใส่แว่นที่มีเลนส์ชั้นเดียวมองผิดระยะมักกระตุ้นำให้ค่าสายตาเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

– เลนส์สองชั้น (Bi-Focal Lenses) คือเลนส์แว่นตาที่มีสองกำลังสายตาในหนึ่งเลนส์ ทำให้สามารถมองได้คมชัดทั้ง 2 ระยะ ได้แก่ ระยะไกล และระยะใกล้ แต่จะเห็นรอยต่อบนเลนส์ ข้อดีคือมีราคาที่ย่อมเยาว์ แต่ก็มีข้อเสียคือ ทำให้เกิดภาพกระโดด (Image jump) เนื่องจากเลนส์ไม่มีโซนการมองในระยะกลาง ทำให้เวลาเปลี่ยนจากมองระยะไกลมาระยะใกล้จะเกิดภาพที่ไม่ต่อเนื่องกันสำหรับผู้ใช้ ทำให้มักมีอาการมึนได้ง่ายถ้ายังไม่คุ้นเคยกับตัวเลนส์และจะเสียโอกาสในการใช้โซนกลางอีกด้วยสำหรับในเลนส์สองขั้น

-โปรเกรสซีฟ (Progressive Lenses) คือเลนส์ที่มีหลายระยะแบบไร้รอยต่อ เป็นเลนส์ชิ้นเดียวที่สามารถทำให้ใช้งานได้ทุกระยะ ตั้งแต่ไกล กลาง ใกล้ แต่มีข้อเสียคือ จะเห็นภาพบิดเบือนด้านข้าง หรือภาพเสีย (Aberration) ต้องใช้เวลาในการปรับตัว ในช่วงแรกๆ อาจจะมีอาการมึนหัว ต้องปรับท่าทาง เช่น ถ้าต้องการดูระยะใกล้จะต้องใช้การเหลือบตาลงด้านล่างหรือเชิดหน้าขึ้นเล็กน้อย เพื่อหาจุดโฟกัสในระยะนั้นๆให้ชัดเจนขึ้น แต่หลังจากปรับตัวได้แล้วก็จะสามารถใช้แว่นตัวเดียวใช้งานได้ทุกระยะในการมอง

วิธีเลือกเลนส์ Progressive เลือกเลนส์โปรเกรสซีฟยังไง แบบไหนดี

โครงสร้างของเลนส์โปรเกรสซีฟสามารถแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ ‘Hard Design’ และ ‘Soft Design’ ซึ่งจะมีข้อดีและข้อเสียต่างกันตามความเหมาะสมต่อการใช้งาน โดย Hard Design จะเน้นความคมชัดของภาพ แต่ด้านข้างจะมีความบิดเบือนของภาพ (Distortion) ที่ชัดเจนกว่าแบบ Soft Design ที่จะให้มุมมองภาพที่นุ่มนวล ความบิดเบือน (Distortion) ของภาพมีความนุ่มนวลกว่าและใช้ระยะเวลา ในการปรับตัวน้อยกว่า

Hard Design เหมาะกับคนที่มีสายตาสั้น และสายตายาวตามอายุร่วมด้วย คนที่ทำงานที่ต้องใช้ความละเอียดสูง เน้นความคมชัดในที่ไกลและใกล้ 

Soft Design เหมาะกับคนที่มีสายตายาว และสายตายาวตามอายุร่วมด้วย คนที่ต้องการความสบายตา คนที่ sensitive เรื่องการปรับตัว ด้วยจุดเด่นของเลนส์ทำให้ปรับตัวได้ง่ายกว่า มีภาพวูบวาบน้อย

คนที่มีกิจกรรมที่ต้องเหลือบตาไปมาบ่อยๆ เช่น นั่งทำงานบนโต๊ะที่ใช้ความเคลื่อนไหวน้อย