“การไม่มีโรค เป็นลาภอันประเสริฐ” แต่ในความเป็นจริงแล้วเมื่ออายุมากขึ้นอวัยวะต่างๆ ในร่างกายที่เราใช้งานมาหลายปีก็ย่อมเสื่อมสภาพเป็นเรื่องปกติ หรือแม้แต่“ดวงตา” ของเราเองก็เสื่อมสภาพไปตามกาลเวลาได้อย่างแน่นอน ดวงตา คือหนึ่งในอวัยวะที่มักพบความผิดปกติได้หลายรูปแบบ และนี่คือ 4 โรคตาที่พบบ่อยในผู้สูงวัยที่ไม่ควรมองข้าม เพราะโรคตาบางโรค หากปล่อยไว้นานโดยไม่ได้รับการดูแลรักษาก็อาจร้ายแรงถึงขั้นตาบอดได้ทันที

การตรวจสุขภาพตาถือเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรละเลย โดยทั่วไปควรได้รับการตรวจสุขภาพตา ทุก 2-4 ปี และสำหรับผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี ควรได้รับการตรวจสุขภาพตา ทุก 1 – 2 ปี ถึงแม้จะไม่มีอาการผิดปกติในการมองเห็นใดๆ ก็ตาม

ต้อหิน

ภาวะที่มีความดันลูกตาสูง จากความผิดปกติของการระบายน้ำภายในลูกตา ทำให้เกิดอาการน้ำคั่งในลูกตา จนทำให้มีการทำลายของขั้วประสาทตา มีผลทำให้ ตามัว ลานสายตาแคบลง จนทำให้สูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรได้ในที่สุด

สัญญาณเตือน
ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการให้เห็นเด่นชัด นอกจากเกิดอาการเฉียบพลัน ซึ่งทำให้ตาพร่ามัว เมื่อมองแสงไฟจะเห็นเป็นรัศมีสีรุ้งรอบๆดวงไฟ ทำให้เกิดอาการปวดตา เหมือนมีคนมาบีบลูกตาแรงๆ ตาแดง ปวดศีรษะ บางครั้งมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย แนะนำครวจตรวจสุขภาพประจำทุกปีเพื่อคัดกรองโรค

ต้อกระจก

เป็นภาวะเลนส์ตาขุ่น ทำให้แสงผ่านเข้าไปในตาได้น้อยลงหรือทำให้แสงแตกกระจายออก ส่งผลให้เมื่ออยู่ในที่ที่แสงจ้าจะมองเห็นภาพได้ไม่ชัดเจน แต่เมื่ออยู่ในที่มืดสลัวกลับมองเห็นภาพได้อย่างชัดเจน

สัญญาณเตือน
1. ตามัวลง มักเป็นไปอย่างช้าๆ
2. ตามัวเหมือนมีหมอกหรือมีกระจกฝ้ามาบัง
3. เปลี่ยนแว่นสายตาบ่อย
4. มองเห็นภาพซ้อน หรือ เห็นแสงไฟกระจาย
5. มองเห็นภาพเป็นสีเหลือง
แนะนำควรตรวจสุขภาพประจำทุกปีเพื่อคัดกรอง

จอประสาทตาเสื่อม

เป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมบริเวณส่วนกลางของจอประสาทตา อาการมักจะเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป จึงทำให้ความสามารถในการมองเห็นของผู้ป่วยลดลงอย่างช้า ๆ

สัญญาณเตือน
1.มองเห็นไม่ค่อยชัด
2.ภาพที่เห็นบิดเบี้ยว
3.เห็นสีผิดเพี้ยน
4.มีจุดดำกลางภาพ
5.มองในที่สว่างไม่ชัด/แพ้แสง
แนะนำควรตรวจสุขภาพประจำทุกปีเพื่อคัดกรอง

เบาหวานขึ้นตา

ผู้ป่วยโรคเบาหวานจะมีระดับน้ำตาลสูงกว่าปกติ ทำให้หลอดเลือดฝอยเสื่อมทั่วร่างกาย เลือดและสารอื่น ๆ จะรั่วซึมออกมาทั่วร่างกาย รวมทั้งหลอดเลือดที่จอตาด้วย จึงทำให้เกิดภาวะเบาหวานขึ้นตา

สัญญาณเตือน
ในช่วงระยะแรก ผู้ป่วยจะไม่มีอาการให้สังเกตเห็นเลย จะรู้ตัวอีกทีเมื่อเบาหวานเริ่มขึ้นตาแล้ว ซึ่งอาการที่พบ ผู้ป่วยมักมีอาการตามัวลงเนื่องจากจุดรับภาพชัดเกิดการบวม แต่หากการบวมอยู่ห่างจากศูนย์กลางรับภาพชัด ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการก็ได้ หรือในบางรายผู้ป่วยจะมองเห็นภาพบิดเบี้ยวไปจากเดิม
แนะนำควรตรวจสุขภาพประจำทุกปีเพื่อคัดกรอง