อย่างที่บอกไปในบทความที่ผ่านมาว่า “อะไรก็ตามที่ไปขัดขวาง การพัฒนาการของจอประสาทตา ตั้งแต่แรกเกิด จนถึงอายุ 10 – 12 ปี ต่างมีผลทำให้เกิดโรคตาขี้เกียจ (Lazy eye) หรือ Amblyopia ได้ทั้งสิ้น”

สาเหตุที่ทำให้เกิดตาขี้เกียจ

1.มีบางอย่างมาบดบังการมองเห็น (Deprivation Amblyopia)

ยกตัวอย่างเช่น
เด็กที่เป็นต้อกระจกตั้งแต่กำเนิด (Congenital Cataract)
ซึ่งในกรณีนี้ แพทย์จะต้องรีบทำการผ่าตัดเอาเลนส์ในตาที่เป็นทางผ่านของแสงไปยังจอประสาทตา ซึ่งเกิดความขุ่นมัวอยู่นั้นออกไปก่อน และทำการให้แว่นแก้ไขค่าสายตากับเด็ก เพื่อให้จอประสาทตาได้รับการกระตุ้นจากแสงสว่าง จนเกิดกระบวนการเรียนรู้ภาพชัดให้ได้ไวที่สุด

2.ผู้ที่มีค่าสายตาทั้งสองข้างที่เยอะมากๆ (Isometropia Amblyopia)

ช่วงค่าสายตาที่มีความเสี่ยง ได้แก่
1.สายตายาวตั้งแต่ +5.00diopter ขี้นไป
2.สายตาสั้นตั้งแต่ -8.00diopter ขึ้นไป
3.หรือสายตาเอียงตั้งแต่-2.50 cylinder diopter ขึ้นไป

กลุ่มนี้จะรักษาโดยการ ให้แว่นหรือคอนแทคเลนส์ เพื่อแก้ไขค่าสายตา แล้วทำการติดตามผล เพื่อดูระดับการมองเห็นว่าดีขึ้นหรือไม่ ทุกๆ 4 – 5 เดือนค่ะ

3.ผู้ที่มีสายตาสองข้างต่างกันมากๆ (Anisometropia Amblyopia)

ช่วงของค่าสายตาที่แตกต่างกันของตาทั้ง 2 ข้าง ของสายตาสั้น สายตายาว และสายตาเอียง ที่เป็นปัยจัยเสี่ยงของการเกิดตาขี้เกียจ คือ

1. สายตาสั้น ต้องมีค่าสายตา 2 ข้างแตกต่างกันมากกว่า 3.00 diopter

2. สายตายาว ต้องมีค่าสายตา 2 ข้างแตกต่างกันมากกว่า 1.00 diopter

3. สายตาเอียง ต้องมีค่าสายตา 2 ข้างแตกต่างกันมากกว่า 1.50 diopter

กลุ่มนี้จะรักษาโดยการให้แว่นหรือคอนแทคเลนส์ เช่นเดียวกัน แต่จะทำร่วมกับการปิดตาหนึ่งข้าง
(เราจะทำการปิดตาในข้างที่มีระดับการมองเห็นดีกว่าเพื่อกระตุ้นการทำงานของตาอีกข้าง ที่มองเห็นแย่กว่า)

4.ผู้ที่มีตาเหล่ ตาเข (Strabismus Amblyopia)

กรณีนี้ นับเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดตาขี้เกียจที่พบบ่อยที่สุดค่ะ ที่เป็นเช่นนี้เพราะ ตาทั้งสองข้าง รับภาพที่มองเห็นได้ไม่เหมือนกัน ตามมาด้วยการที่สมองเลือกภาพที่ดีกว่า และทำการตัดสัญญาณภาพที่แย่กว่าออกไป ทำให้ตาข้างที่ถูกตัดสัญญาณภาพไปนั้น เกิดเป็นโรคตาขี้เกียจนั่นเองค่ะ

การรักษาตาขี้เกียจ

1. การให้แว่น หรือให้คอนแทคเลนส์ เพื่อแก้ไขค่าสายตา
2. การหยอดยาขยายม่านตา
3. ปิดตาหนึ่งข้างที่ระดับการมองเห็นดีกว่า และทำการติดตามผลการรักษาอย่างต่อเนื่องโดยนักทัศนมาตร
4. การผ่าตัด ซึ่งจะเป็นหน้าที่ของแพทย์ผู้ดูแลรักษาต่อไปค่ะ

ระยะเวลาในการติดตามผล

ในแต่ละคนอาจมีความแตกต่างกันไป ทั้งนี้ ขึ้นปัจจัยหลายๆอย่าง เช่น
-สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคตาขี้เกียจ
-ช่วงอายุที่เป็น
-ค่าสายตาที่มี
-หรือ โรคทางตาที่แทรกซ้อนอยู่ เป็นต้น

โรคตาขี้เกียจนั้นสามารถเป็นได้ทั้งในตาข้างเดียวหรือเป็นร่วมกันทั้งสองตาก็ได้

สำหรับการวินิจฉัยของนักทัศนมาตร ก็จะเริ่มตั้งแต่
1.ขั้นตอนการซักประวัติ ทั้งกับตัวเด็กและผู้ปกครองเด็ก
2.ตรวจวัดระดับการมองเห็น
3.เช็คกล้ามเนื้อตา
4.ดูเรื่องสุขภาพตา
และตรวจด้านอื่นๆร่วมด้วยตามที่เห็นสมควรค่ะ
จากนั้นจึงจะประเมินได้ว่าคนไข้นั้น เป็นโรคตาขี้เกียจหรือไม่ ถ้าเป็น เป็นจากสาเหตุใด
จากนั้นเมื่อทราบถึงสาเหตุแล้ว จึงจะเข้าสู้ขั้นตอนการรักษาได้ค่ะ