ในขั้นตอนการซักประวัติ ก่อนที่จะทำการตรวจด้านอื่นๆ ของดวงตา นักทัศนมาตรมักจะได้ยินกับอาการที่ว่า เห็นจุดดำลอยไปลอยมาในตา บางคนบอกเห็นเหมือนมีหยากไย่ในตา บางคนเห็นในตาข้างเดียว บางคนไม่เคยสังเกตว่าอยู่ในตาข้างไหน รู้แต่ว่าตนเองหงุดหงิด และรำคาญมาก เพราะเหมือนมียุงบินผ่านตาตลอดเวลา

หลายคนพอมีอาการสักระยะหนึ่ง ก็ไปพบหมอ หรือในบางคนค้นหาคำตอบเองจากทางอินเตอร์เน็ต ได้คำตอบมาว่า เป็นอาการของภาวะวุ้นในตาเสื่อม ซึ่งในวันนี้ เราจะมาเรียนรู้กับภาวะดังกล่าวไปพร้อมๆ กันค่ะ

วุ้นในตาเสื่อม คืออะไร?

เดิมทีวุ้นในตาของเรา จะมีลักษณะเป็นเจลใสและเหนียว ซึ่งในนั้นจะประกอบไปด้วยน้ำมากถึง 99% ที่เหลือก็จะเป็นในส่วนของไขมัน โปรตีน ไฮยาลูโนแนน (Hyaluronan) และสารอื่นๆ อีกเล็กน้อย 

และเมื่อเวลาผ่านไป วุ้นในตาก็จะเริ่มมีความเสื่อมลงเรื่อยๆ ไม่มีความเหนียวเหมือนเดิมและเกิดการหดตัวขึ้น ตามมาด้วยการดึงรั้งที่ผิวจอประสาทตา ทำให้มีเลือดกระเซ็นออกมาในประมาณน้อยๆ ลอยไปมาอยู่ภายในวุ้นตาของเรา มีผลทำให้เราเห็นเป็นจุดดำๆ หรือหยากไย่ (Floater )นั่นเองค่ะ

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะวุ้นในตาเสื่อม อาทิเช่น

1. ผู้ที่มีภาวะสายตาสั้นมากๆ ลูกตาจะมีความยาวกว่าคนปกติ ทำให้เกิดการดึงรั้งที่จอประสาทตาได้ง่ายกว่า

2. ผู้ที่เคยประสบอุบัติเหตุ แล้วเกิดการกระทบกระเทือนบริเวณศรีษะ

3. ผู้ที่เคยผ่าตัดในลูกตามาก่อน

ข้อควรระวัง 

1. ในกรณีที่มีการดึงรั้งของวุ้นในตา จนมีเลือดออกมาในปริมาณมาก (Vitreous Hemorrhage) จุดดำๆ หรือหยากไย่ที่เคยเห็น จะมีการเพิ่มจำนวน หรือเปลี่ยนแปลงรูปร่างไปอย่างรวดเร็วได้

2. ผลแทรกซ้อนจากภาวะวุ้นในตาเสื่อม ได้แก่ จอประสาทตาฉีกขาด หรือเกิดการหลุดลอกออกไปเลย (retina detachment) กรณีนี้ อาจนำไปสู่การสูญเสียการมองเห็นได้ในที่สุด

การรักษา

1. ภาวะวุ้นในตาเสื่อมไม่สามารถรักษาหรือหยุดยั้งได้ จะรักษาได้ก็ต่อเมื่อเกิดรอยฉีกขาดบนจอประสาทตาแล้ว

2. ในผู้ที่เห็นจุดดำๆ ลอยไปมาในตา แรกๆ อาจก่อให้เกิดความรำคาญอยู่บ้าง แต่ไม่ต้องกังวลใจไป เพราะเมื่อเวลาผ่านไป สมองของคนเราจะปรับตัวได้เอง โดยวิธีการเลือกที่จะไม่รับรู้ภาพนั้นๆ ความรู้สึกรำคาญก็จะลดน้องลงไปนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ผู้มีภาวะวุ้นในตาเสื่อมอยู่แล้ว ควรหมั่นสังเกตตัวเองบ่อยๆ หากจุดดำๆ ที่เห็น มีการเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว หรือมีอะไรที่ผิดแปลกไปจากเดิม ก็ควรรีบมาพบแพทย์ให้เร็วที่สุด

แต่ทางที่ดีที่สุดคือ การหมั่นมาตรวจสุขภาพตากับแพทย์ หรือนักทัศนมาตรเป็นประจำทุกปี เพื่อไม่ให้สายเกินกว่าจะแก้ไขได้นะคะ