“ตรวจสุขภาพตา หรือตรวจค่าสายตาโดยนักทัศนมาตร” ประโยคที่หลายๆ คนคุ้นหูกันเป็นอย่างดี หรืออาจจะแปลกใหม่สำหรับหลายๆ คน แล้วจริงๆ นักทัศนมาตรเขาคือใคร มีหน้าที่อย่างไรบ้าง วันนี้เราจะพามาทำความรู้จักกับพวกเค้า ไปพร้อมๆ กันค่ะ

นักทัศนมาตร (Optometrist) คือใคร? ทำหน้าที่อะไรบ้าง?

ผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาทัศนมาตร หรือนักทัศนมาตร (Optometrist) หรือเรียกสั้นๆ ว่า OD ซึ่งย่อมาจากคำว่า Oculus Doctor ในภาษาลาติน ที่แปลว่า หมอผู้ดูแลเกี่ยวกับดวงตา ซึ่งนับว่าเป็นหนึ่งในวิชาชีพสำคัญทางด้านการแพทย์ปฐมภูมิทั่วโลก (Primary care physician) ที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องของดวงตา โครงสร้างของดวงตา ตลอดจนในเรื่องของปัญหาสายตา และการประมวลผลของระบบการมองเห็นในมนุษย์

ผู้ที่ประกอบวิชาชีพดังกล่าว ต้องสอบผ่านใบประกอบโรคศิลปะตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2546 แล้วทั้งสิ้น ซึ่งปัจจุบันบุคลากรในสาขานี้ มีจำนวนน้อยมาก เมื่อเทียบกับจำนวนประชากร และปัญหาสายตาที่มีอยู่ในปัจจุบัน

 

หน้าที่และความรับผิดชอบของนักทัศนมาตร ได้แก่

1. วินิจฉัยปัญหาของสายตา (สั้น-ยาว-เอียง รวมถึงสายตายาวตามวัย) และทำการแก้ไขภาวะสายตาที่ผิดปกติ โดยการจ่ายแว่นสายตา และเลนส์สัมผัส (contact lens)

2. วินิจฉัยโรคตา และตรวจความผิดปกติด้านกล้ามเนื้อตา ร่วมกับการฝึกบริหารกล้ามเนื้อตาให้กับผู้ที่มีปัญหาทางด้านนั้นๆ

3. ทดสอบความสามารถในการแยกแยะสี การมองภาพสามมิติ รวมถึงการทำงานประสานกันของทั้งสองตา(binocular vision)

4. ให้คำแนะนำในการเลือกใช้เลนส์ทุกชนิด ที่จะมาประกอบเป็นแว่นสายตา และคอนแทคเลนส์ ให้มีความเหมาะสม และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อคนไข้

5. ช่วยเหลือฟื้นฟูในผู้ที่มีข้อจำกัดทางด้านการมองเห็น(ผู้มีสายตาเลือนราง)

6. ให้คำแนะนำในการดูแลคนไข้ ทั้งก่อนผ่าตัดและหลังผ่าตัดทางด้านดวงตามา

7. วิเคราะห์ผลการทดสอบ หรือผลตรวจ ด้านสายตา และระบบการมองเห็นทั้งระบบ เพื่อวางแผนและพัฒนาการรักษาต่อไป

8. ประสานงานกับผู้ปฏิบัติงานทางการแพทย์ ทั้งทางด้านดวงตา และด้านอื่นๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับดวงตา ซึ่งบางครั้งจำเป็นที่จะต้องอาศัยการดูแลคนไข้ ส่งต่อคนไข้ ตรวจระบบอื่นของร่างกายต่อไป เนื่องจากความผิดปกติทางตาที่แสดงออกมานั้น อาจเป็นผลมาจากโรคทางกายได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไทรอยด์ โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นต้น

ในบางกรณีที่คนไข้อาจดูเหมือนว่า จะมาด้วยอาการที่คล้ายๆ กัน แต่อย่าลืมว่าทุกคนย่อมมีความแตกต่างกันเสมอ  *ดังนั้น ผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาทัศนมาตร จึงเป็นบุคลากรสำคัญ ที่จะนำเอาหลักการ วิชาความรู้ต่างๆ มาวิเคราะห์ และตัดสินใจ ในการวินิจฉัยความผิดปกติทางด้านการมองเห็น ควบคู่กับการหาวิธีการแก้ไขที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล 

***ดังนั้น การประกอบโรคศิลปะสาขาทัศนมาตร อาจถูกเรียกได้หลายอย่าง แต่หากเข้าใจแค่ว่า สิ่งที่ผู้ประกอบโรคศิลปะสาขานี้ทำ เป็นเพียงเรื่องของแว่นสายตา นับว่าเป็นความเข้าใจที่ผิดมาก เพราะหน้าที่หลักของผู้ประกอบวิชาชีพทัศนมาตร ที่มีต่อเพื่อนมนุษย์ ก็คือ “การพัฒนาคุณภาพชีวิต ด้วยการปรับปรุงคุณภาพการมองเห็นที่ดีขึ้นนั่นเองค่ะ”

 

ความแตกต่างระหว่างนักทัศนมาตรไทย กับออสเตรเลีย

– ในประเทศไทยนักทัศนมาตรยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ไม่มีหน้าที่ตายตัวว่าจริงๆ แล้วทำหน้าที่อะไร และยังมีความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับหน้าที่ของตัวเอง เช่น นักทัศมาตรต้องตรวจค่าสายตาให้ดีที่สุด เน้นการขายมากกว่าการตรวจสุขภาพตาแบบละเอียดครบถ้วน

– แต่ในต่างประเทศนักทัศมาตรมีมานานแล้ว ซึ่งคนในประเทศเข้ารับการตรวจสุขภาพตาเป็นประจำ จนเป็นเรื่องปกติ โดยนักทัศมาตรจะทำการตรวจสุขภาพตาแบบละเอียด เช่น การตรวจการรวมภาพ การตรวจสุขภาพตาด้านหน้า และด้านหลัง เป็นต้น เพื่อหาสาเหตของการเกิดโรค และป้องกันไม่ให้เกิดโรคตาที่รุนแรง

เหตุผลที่ศรไทยนำการตรวจสุขภาพตาจากประเทศออสเตรเลียมาใช้

ในต่างประเทศร้านแว่นตา เปรียบเสมือนคลินิกเวชกรรม ซึ่งทุกร้านมีนักทัศนมาตรในการตรวจ และวินิฉัยโรคตาเบื้องต้น เพื่อตรวจความผิดปกติของดวงตาตั้งตาเนิ่นๆ และประสานกับจักษุแพทย์ เพื่อทำการรักษาต่อไป แต่เนื่องจากในประเทศไทยยังไม่คุ้นชินกับการตรวจสุขภาพตาแบบละเอียดครบถ้วน โดยนักทัศนมาตร และยังไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการตรวจสุขภาพตามากเท่าที่ควร ทางศรไทยจึงตระหนักถึงปัญหานี้ และได้นำการตรวจจากประเทศออสเตรเลียที่มีการตรวจตาเบื้องต้นแบบลงลึก และละเอียดครบถ้วนมากกว่าในประเทศไทย ศรไทยจึงนำเอาขั้นตอนการตรวจสุขภาพตานี้มาประยุกต์ให้เหมาะสมกับคนไทย เพื่อให้เกิดความคุ้นชิน และตระหนักถึงปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพตามากขึ้น