“ตากุ้งยิง ไปดูใครอาบน้ำมาล่ะ” เป็นคำถามยอดฮิตสำหรับผู้ที่เป็นตากุ้งยิงแน่นอน ทั้งๆ ที่ก็ใช้ชีวิตปกติ ไม่ได้แอบดูใคร แต่ทำไมถึงรู้สึกปวดๆ ที่เปลือกตา แล้วตุ่มบวมแดงนั้นก็ค่อยๆ โตขึ้น มีอาการเป็นหนอง จนไม่อยากออกไปไหนให้ใครสังเกตเห็น นั่นแหละค่ะ เป็นอาการของตากุ้งยิง แล้วตากุ้งยิงนี้เกิดขึ้นมาจากอะไรกันแน่ล่ะ มาเรียนรู้กับทางศรไทยไปพร้อมๆ กันเลยค่ะ 

ตากุ้งยิง (Hordeolum)

         เกิดจากการสะสมของแบคทีเรีย ฝุ่น หรือสิ่งสกปรกที่เข้าไปอุดตันข้างในเปลือกตา ในบางกรณี อาจเกิดขึ้นจากต่อมไขมันอุดตัน จนเกิดอาการบวมแดง โดยตากุ้งยิงสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งด้านนอก และด้านในของเปลือกตา

ทำไมเป็นตากุ้งยิงแล้ว ถึงเป็นอีกเรื่อยๆ

         เนื่องจากเชื้อแบคทีเรีย และสิ่งสกปรกที่ทำให้เกิดตากุ้งยิง ยังคงหลงเหลืออยู่ข้างในเปลือกตา ทำให้เมื่อเรามีพฤติกรรมแบบเดิม เช่น เช็ดคราบเครื่องสำอางบริเวณเปลือกตาไม่สะอาด เกิดการหมักหมม จึงทำให้เกิดตากุ้งยิงขึ้นมาอีกได้

ปัจจัยเสี่ยง หรือสาเหตุที่ทำให้เกิดตากุ้งยิง 

1.สัมผัสดวงตาด้วยมือที่ไม่สะอาด

2.ฝุ่นละอองเข้าตา

3.โรคเปลือกตาอักเสบ  

4.ใช้เครื่องสำอางที่ไม่สะอาดหรือล้างเครื่องสำอางไม่หมด

5.เคยมีประวัติเป็นตากุ้งยิงมาก่อน

6.ภูมิคุ้มกันร่างกายลดลง เช่น เป็นโรคเบาหวาน

อาการของตากุ้งยิง

  1. เจ็บๆ คันๆ บริเวณเปลือกตา
  2. ปวด บวม แดง บริเวณเปลือกตา
  3. เป็นฝีหรือหัวหนอง 4 – 5 วัน

ตากุ้งยิงแบ่งออกเป็น 2 ชนิด

  1. ตากุ้งยิงชนิดหัวผุด (ภายนอก) ต่อมที่โคนขนตาอุดตัน ทำให้แบคทีเรียที่อยู่ในต่อมนั้นเกิดการเติบโต มีหัวฝีผุดชัดเจนบริเวณขอบเปลือกตาด้านนอก มักจะมีขนาดใหญ่ และหัวฝีจะชี้ออกด้านนอก
  1. ตากุ้งยิงชนิดหัวหลบใน (ภายใน) ต่อมไขมันอุดดัน มีตุ่มบวม หัวฝีเกิดขึ้นด้านในเปลือกตา หัวฝีจะชี้เข้าด้านใน

         ในบางกรณีเมื่อเราไปซื้อยามารักษาเอง ร้านขายยาอาจคิดว่าเป็นแค่อาการระคายเคืองตาธรรมดา และอาจจัดยาลดการอักเสบที่เป็นยาสเตรียรอยด์ ซึ่งไม่ได้ช่วยให้อาการดีขึ้น ในบางคนตากลับหายแดง ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงแล้ว น้ำหนองยังฝังอยู่เพียงแต่อาการตาแดงน้อยลงก็ได้

 

         ดังนั้นหากสงสัยว่าเป็นตากุ้งยิง ควรพบจักษุแพทย์เพื่อรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ หรือการเจาะระบายหนองที่อยู่บริเวณเปลือกตาออกเพื่อลดอาการอักเสบ และจะทำให้หายเร็วขึ้นด้วยนะคะ