มีอาการปวดศีรษะ เป็นมากช่วงท้ายวัน

นักทัศนมาตร ช่วยคุณได้

หลายคนเมื่อมีอาการปวดศีรษะ  ก็มักจะทานยาแก้ปวดลงไป แน่นอนว่าเมื่อทานยาแล้ว อาจจะบรรเทาอาการปวดลงไปได้บ้าง แต่ก็ไม่เคยหายสนิท จนดูเหมือนเป็นโรคเรื้อรัง  สุดท้ายก็ต้องไปพบหมอ บางคนเมื่อไปถึงโรงพยาบาล ถึงกับต้องเข้าเครื่องตรวจสแกนสมองกันเลยทีเดียวค่ะ  สุดท้ายก็ต้องมาจบลงที่การส่งคนไข้มาวัดสายตา และตัดแว่นใส่แทน เพราะทั้งหมดที่ตรวจมา ไม่พบความผิดปกติใดๆเลย  นอกจากในเรื่องสายตา(สั้น-ยาว-เอียง หรือสายตายาวตามวัย)ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขนั่นเองค่ะ

 

ดังเช่น คนไข้หลายคน ที่มาพบกับนักทัศนมาตร ซึ่งเราก็มักจะได้ยินประโยคเดิมๆเสมอว่า

 

“มีอาการปวดศีรษะ และไปพบหมอมา ตรวจทุกอย่างแล้ว หมอให้มาตัดแว่นใส่ค่ะ/ครับ “

 

ฉะนั้นแล้ว จะดีกว่าไหม ถ้าหากคุณมีอาการปวดศีรษะแล้วมักเป็นช่วงท้ายวัน หรือหลังจากใช้สายตาเยอะๆ จะลองเข้ามารับคำปรึกษากับนักทัศนมาตรดูก่อน บางครั้งอาการที่คุณเป็นอยู่ อาจจะไม่ได้เกิดจากความผิดปกติทางร่างกายอย่างเดียวก็ได้นะคะ จะได้ไม่เป็นการเสียทั้งเงิน และเสียทั้งเวลาด้วยค่ะ

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อตรวจคัดกรองโดยนักทัศนมาตรแล้ว พบว่าคนไข้ มีปัญหามากกว่าเรื่องของสายตา กล้ามเนื้อตา หรือมีปัญหาด้านโรคตาที่รุนแรงกว่าที่เราจะดูแลได้  เราก็จะไม่รีรอที่จะแนะนำและส่งต่อคนไข้ ให้ไปพบหมอโดยเร็ว เพื่อรับการรักษาต่อไปอย่างเร็วที่สุดเช่นกันค่ะ

อาการปวดศีรษะเนื่องจากปัญหาด้านสายตา มีอะไรบ้าง  ลองมาสังเกตตัวเองกันดูนะคะ

(1.)มักปวดบริเวณรอบกระบอกตา หัวคิ้ว ท้ายทอย หรือขมับ

(2.)มักปวดหลังจากทำงานระยะใกล้ เช่น ใช้คอมพิวเตอร์ อ่านหนังสือ หรือเล่นโทรศัพท์ เป็นเวลานานๆ

(3.)ในบางคน อาจมีปัญหาสายตา สั้น-ยาว-เอียง หรือสายตาสองข้างต่างกันมากๆ แต่ยังไม่เคยรับการตรวจ หรืออีกกรณีคือใส่แว่นอยู่ตลอด แต่แว่นอันนั้น มีค่าสายตาที่ไม่ตรงกับค่าสายตาปัจจุบันของตนเอง ก็จะส่งผลทำให้มองภาพไม่ชัด บางคนเห็นภาพซ้อน ดังนั้นจึงต้องอาศัยการเพ่งที่มากกว่าปกติ จนทำให้รู้สึกปวดหัวตาและปวดหัวได้ค่ะ

(4.)คนไข้บางคนมีปัญหาด้านกล้ามเนื้อตา เช่น ตาเหล่ ตาเข ซึ่งอาจแสดงออกมาในรูปของอาการปวดศีรษะเนื่องจากต้องเกร็งกล้ามเนื้อตาเพื่อแก้ไข หรือลดภาวะดังกล่าวนั่นเองค่ะ

(5.)คนไข้ที่อยู่ในช่วงอายุประมาณ40ปี ซึ่งเป็นกลุ่มที่เราจะพบบ่อยที่สุด เพราะคนไข้กลุ่มนี้จะเริ่มมีสายตายาวตามวัย(presbyopia) ทำให้เริ่มมีปัญหาในการมองระยะใกล้ไม่ชัดเหมือนเมื่อก่อน  ต้องอาศัยการเพ่งมากขึ้น โดยส่วนใหญ่แล้วมักมีอาการปวดบริเวณขมับ และท้ายทอยค่ะ

 

สำหรับการรักษา ก็ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้ เกิดอาการปวดศีรษะของแต่ละคนค่ะ ในส่วนนี้ต้องอาศัยการซักถาม พูดคุย และรับการตรวจอย่างละเอียด

โดยนักทัศนมาตรก่อนทุกครั้ง เพื่อเลือกวิธีการแก้ไข รักษาได้อย่างตรงจุดที่สุดนั่นเองค่ะ