บทความที่ผ่านมา เราได้พูดถึงเรื่องโรคต้อลมกันไปแล้ว  สำหรับบทความนี้ เราจะมาให้ความรู้ต่อในเรื่องของโรคต้อเนื้อกันบ้างนะคะ

ลักษณะของโรคต้อเนื้อ เราสามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า ซึ่งต่างจากโรคต้อลม ที่จะสังเกตเห็นได้ยาก หรืออาจจำเป็นต้องใช้เครื่องมือทางการแพทย์ ที่เรียกว่า slit-lampเข้ามาช่วยตรวจหาโรค

การดำเนินโรคจะมีที่มาเหมือนกันกับต้อลม นั่นคือ เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อปกติ จนกลายมาเป็นเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรง   แต่ที่เพิ่มเติมขึ้นมาก็คือ โรคต้อเนื้อนั้น จะเกิดเป็นความเสื่อมที่เพิ่มมากขึ้น กินพื้นที่ของดวงตาเป็นบริเวณกว้าง

เกิดการพัฒนาของโรคต่อเนื่องมาจากต้อลมที่คนไข้เป็นอยู่แล้ว   ซึ่งการหนาตัวขึ้นของเยื่อบุตาที่เสื่อมสภาพนี้ เมื่อมีการรุกลามเข้าสู่กระจกตาแล้วนั้น จะสามารถดึงรั้งกระจกตา จนทำให้เกิดสายตาเอียงได้นั่นเองค่ะ

ลักษณะ:

-เป็นแผ่นเนื้อรูปสามเหลี่ยม ยื่นเข้ามาในกระจก

(ส่วนยอดจะชี้เข้าทางกระจกตา)

-มีสีขาวขุ่น เหลือง หรืออาจมีสีแดงก็ได้ แตกต่างกันไปในแต่ละคน

-ในบริเวณแผ่นเนื้อ จะสังเกตเห็นได้ว่ามีเส้นเลือดยื่นตามเข้ามาด้วย  โดยส่วนใหญ่มักพบทางด้านหัวตามากกว่าหางตา และสามารถเป็นได้กับตาข้างเดียว หรือเป็นพร้อมกันทั้งสองตาก็ได้

 

อาการ:

-คัน เคือง แสบตา ตาแดง

-อาจพบการอักเสบของต้อเนื้อได้

-ลักษณะอาการคนไข้เหมือนกับโรคต้อลม เพียงแต่ในโรคต้อเนื้อ อาจมีการเปลี่ยนแปลงทางการมองเห็นได้

จากการที่เยื่อบุตาที่เสื่อมสภาพ ยื่นไปบดบังความสว่างของแสงที่จะเข้ามายังรูม่านตา รวมถึงมีการไปดึงรั้งกระจกตาไว้ด้วย ดังนั้นโรคต้อเนื้อจึงมีผลกระทบต่อการมองเห็นได้ ซึ่งต่างจากต้อลม ที่รอยโรค จะอยู่แค่ในส่วนของตาขาวเท่านั้น

สาเหตุ:

-เกิดจากการที่ดวงตาสัมผัสกับแสงแดด ฝุ่น ลม ควัน สารเคมี และมลพิษทางอากาศเป็นประจำ

-คนไข้ที่มีภาวะตาแห้ง และเป็นโรคต้อลมมาก่อนแล้ว

จะทำให้ต้อเนื้อพัฒนาวิ่งเข้ากระจกตาได้ไวขึ้นด้วย

 

การรักษา:

1.รับการตรวจ วินิจฉัยเบื้องต้นกับจักษุแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญทางด้านสายตา(นักทัศมาตร)

2.ทางด้านจักษุแพทย์ อาจมีการให้ยาหยอดตา

สเตียรอยด์(steroid)มา แต่ให้ใช้เท่าที่จำเป็น เพื่อลดการอักเสบของต้อเนื้อเท่านั้น

3.เช่นเดียวกับโรคต้อลม นั่นคือ ไม่มียาตัวใดรักษาโรคต้อเนื้อให้หายขาดได้  ที่ทำได้ก็คือ การประคองอาการของโรค  ไม่ให้รุกลามไปมากกว่านี้ นั่นคือ สวมใส่แว่นที่ป้องกันรังสีUVA UVB เมื่อจะต้องออกไปข้างนอก  ไม่ขยี้ตา  และควรทำร่วมกับการหยอดนำ้ตาเทียม(ชนิดรายวัน)เพื่อให้ความชุ่มชื้นกับดวงตาตลอดเวลา

4.สำหรับการผ่าตัด ส่วนใหญ่ จักษุแพทย์ จะรอจนกระทั่ง ต้อเนื้อรุกลามเข้าไปในกระจกตามากในระดับนึง อาจจะประมาณ3-4มิลลิเมตร หรือ ผ่าก่อนที่ต้อเนื้อจะกินบริเวณถึงขอบรูม่านตา ในขณะที่รูม่านตามีการขยายเต็มที่(ปิดไฟ เพื่อดูการขยายของรูม่านตา) เพราะถึงรีบลอกออก ประมาณมากกว่า30%ของคนไข้ มีโอกาสที่ต้อเนื้อจะกลับมาเป็นซ้ำ และไวกว่าเดิมมากขึ้นได้

จบไปแล้ว กับสองบทความ ในเรื่องโรคต้อลมและโรคต้อเนื้อ  ซึ่งเราก็หวังว่าจะเป็นความรู้สำหรับผู้อ่านไม่มากก็น้อยนะคะ  และหากท่านใดมีความสนใจที่จะเข้ามารับคำปรึกษา และตรวจสุขภาพตากับนักทัศนมาตร ก็ขอเชิญชวนพบกันได้ที่ ร้านแว่นตาศรไทย ทุกสาขาเลยค่ะ